2022 เศรษฐกิจใหม่ Staking Economy กำลังจะมา?

“Staking Economy” ศัพท์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มคุ้นหูขึ้นเรื่อยๆในแวดวงข่าวสารคริปโตและเริ่มหลุดออกมาเป็นข่าวสารปกติกันแล้ว

มันคืออะไรกันแน่ และทำไมมันถึงจะมีบทบาทในการลงทุนอันใกล้ แบงค์ชั้นนำในระดับโลกเริ่มขยับมาจับเรื่องนี้ นำร่องโดย Sygnum Bank ของสวิตเซอร์แลนด์ประกาศให้ฝากเหรียญ ETH โดยชูผลตอบแทนที่ 7% และ JP Morgan บอกว่าตอนนี้ เม็ดเงินที่ Stake ในระบบบล็อกเชนมีมูลค่ากว่า 9 พันล้านดอลลาร์ และมันกำลังจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

Consensus Mechanism
การจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ เราต้องเข้าใจกลไกป้องกันการโกง (Consensus Mechanism) ในบิตคอยน์เสียก่อน เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของจักรวาลคริปโต ซาโตชิผู้สร้างบิตคอยน์ เลือกใช้กลไกป้องกันการโกงที่เรียกว่า “Proof of Work” โดยให้โหนดทุกโหนดที่เชื่อมต่อกันในระบบทั้งหมด ทำการแข่งขันการหาคำตอบทางคณิตศาสตร์ ซึ่งนั่นหมายความว่าทุกโหนดต้องใช้พลังงานซีพียูเครื่องอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งเวลาประมาณ 10 นาทีต่อบล็อก เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง และได้เป็นผู้ถือสิทธิ์ในการปิดบล็อก แล้วก็จะได้รางวัลเป็นเหรียญตอบแทน (ตรงนี้เป็นเรื่องเทคนิคค่อนข้างมาก เข้าใจคอนเซปต์ก่อนนะครับ)

ระบบ Proof of Work ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามีความแข็งแกร่ง ทำงานได้ดีในระยะเวลากว่าสิบปีที่บิตคอยน์ถือกำเนิดจนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถโกงระบบได้ ถึงแม้ว่าจะกระจายศูนย์ไปยังโหนดที่ไม่รู้ว่าเป็นใครก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามกลไกนี้โดนต่อว่าในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้าเยอะ จนถูกลากมาเป็นประเด็นสิ่งแวดล้อมและลามไปถึงการเมืองระดับประเทศ

บล็อกเชนอื่นที่เกิดมาทีหลังบิตคอยน์ ในช่วงต้นก็ก็อปปี้โค้ดของบิตคอยน์ที่เรียกกันเท่ห์ๆว่า “Hard Fork” แล้วมาดัดแปลงเป็นเชนของตัวเองนั้น ก็ใช้กลไกป้องกันการโกง Proof of Work เช่นเดียวกัน แต่ทว่าช่วงหลังมีแนวความคิดใหม่ว่า แทนที่จะใช้พลังซีพียูและไฟฟ้ามากมายให้เปลี่ยนเป็นกลไกอย่างอื่นได้ไหม ที่ “ทำงานได้เร็วกว่า” และ “ประหยัดไฟ” แต่ก็ยังป้องกันการโกงได้ และนั่นก็คือที่มาของแนวคิด “Proof of Stake”

Proof of Stake คืออะไร?
แนวคิดของ Proof of Stake ก็คือจะไม่มีการใช้พลังซีพียูมากมาย แต่เปลี่ยนเป็นการ “เดิมพัน” (Stake) ด้วยเงินแทน ถ้าโหนดมีความพยายามที่จะโกง เงินเดิมพันนี้ก็จะถูกริบทันที และเงินที่ใช้ก็ไม่ใช่ใครอื่น เป็นเหรียญของเชนนั่นเอง สำหรับเชนอีเธอเรียม เชนอันดับสองของโลกรองจากบิตคอยน์ เหรียญที่ใช้คือ “ETH”

จริงๆแล้วกลไก Proof of Stake มีรายละเอียดเยอะกว่านี้และยังมีข้อถกเถียงถึงความแข็งแกร่งในการป้องกันการโกงอยู่ แต่ผมคิดว่าจะไม่เน้นลงลึกเกินจำเป็น แต่อยากให้ผู้อ่านเห็นภาพว่ามันเกิดอะไรขึ้น

เชนอีเธอเรียม ณ เวลานี้ ตัวกลไกป้องกันการโกง (Consensus Mechanism) นั้นยังใช้ Proof of Work อยู่ แต่มีแผนกำลังจะเปลี่ยนไปใช้ Proof of Stake ในปลายปีนี้ต้นปีหน้า (ยังไม่รู้ว่าจะเลื่อนอีกหรือเปล่า)

แล้ว Proof of Stake มันสำคัญอย่างไร? ความน่าสนใจเรื่องนี้ ในมุมมองหนึ่งก็คือ “Business Model”

ลมปราณภูติอุดร ยืมพลังคนอื่นมาเป็นพลังของตัวเอง
โดยปกติระบบการเงินที่เป็นระบบรวบอำนาจ หรือที่เรียกกันว่า Centralize ที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันนั้น ตัวเซิร์ฟเวอร์ ธุรกรรมต่างๆ เจ้ามือที่เป็นธนาคารสถาบันการเงินต่างๆ จะ “ดูดซับ” ค่าใช้จ่ายตรงนี้เอาไว้ และไปทำเงินในจุดอื่น ดังนั้นเวลาเราโอนเงินระหว่างกัน เราจะไม่เสียค่าธรรมเนียม จนทำให้เรารู้สึกว่าการทำธุรกรรมระหว่างกันนั้นไม่ควรจะจ่ายเงินค่าธรรมเนียม

แต่ระบบกระจายอำนาจนั้น (Decentralize) มันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะเราไม่มี “เจ้าภาพ” ระบบถูกออกแบบให้ทุกคนคนที่อยากจะเป็นโหนดของเครือข่ายเข้ามาร่วม ใครก็ได้ แค่มีเครื่องแล้วก็รันซอฟต์แวร์ ดังนั้นจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ผลตอบแทน” กลับ ให้คนเหล่านี้เป็นแรงจูงใจในการทำงาน ดังนั้นผู้ใช้ทุกคนจึงต้องมีการจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างให้แก่ระบบแล้วระบบก็จะจ่ายไปยังผู้ดูแลรักษาโหนด

ถ้าใครเป็นโหนดสายบิตคอยน์ คนรันระบบที่เป็นโหนดหรือที่เรียกกันว่า “นักขุด” ก็จะได้รางวัลเป็นเหรียญบิตคอยน์ตอบแทน แต่ถ้าเป็นเชนที่ใช้กลไก Proof of Stake ก็แค่ “วางเหรียญ” (Stake) เท่านั้นก็จะมีโอกาสได้เป็น “ผู้ตรวจสอบ” (Validator) ใครวางมากก็มีโอกาสมาก เมื่อปิดบล็อกได้ ก็จะได้รางวัลเป็นเหรียญตอบแทนเช่นเดียวกัน

จากกลไกนี้ ทำให้เหรียญของระบบมีการใช้มากขึ้น และเมื่อมีการใช้ก็จะเกิดการดันมูลค่าของเหรียญขึ้นตามกลไก Demand & Supply ที่น่าสนใจก็คือ เหรียญเหล่านั้น “ถูกเสกขึ้นจากอากาศ” นับเป็น “ร้อยเป็นพันล้านเหรียญ” แต่ตราบใดที่มีความต้องการการใช้ มันก็ยังมีมูลค่า ซึ่งสิ่งนี้ไม่ต่างอะไรกับ US Dollar ในปัจจุบันเลย ที่อเมริกาพิมพ์แบงค์กระดาษออกมาตามใจชอบ ไม่มีสินทรัพย์อะไรหนุนหลัง ซึ่งมันควรจะกลายเป็น “แบงค์กงเต๊ก” แต่มันยังเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้น ก็เพราะยังมีศรัทธาที่แข็งแกร่ง และ Demand & Supply มีมากมายค้ำจุนเอาไว้

เอาล่ะ กลับมาที่เรื่อง Proof of Stake ต่อ แล้วมันจะทวีความสำคัญอย่างไรที่จะกลายเป็น “Staking Economy”
การวางเหรียญเดิมพัน เพื่อรับสิทธิ์เป็น Validator แล้วได้ผลตอบแทนกลับ นั่นก็หมายความว่า ใครที่มีเหรียญเยอะ แทนที่จะเก็บไว้เฉยๆ ก็เอามาวาง (Stake) แค่นี้ก็ได้ค่าฟีแล้ว ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็น “เรื่องมหัศจรรย์” ที่ทำให้เหรียญคริปโตมีความโดดเด่นกว่าสินทรัพย์อื่นอีกหนึ่งขั้น คือถ้าเป็นทอง เราก็เก็บเอาไว้ ราคาดีก็ขาย แต่มันไม่มีทองใหม่งอกออกมา แต่เหรียญคริปโต “ทำได้” มันสามารถมีเหรียญน้อยๆงอกออกมาได้ เพียงแค่เราเอาไป Stake เท่านั้น

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Business Model
มี Exchange บางที่เช่น Binance เขาเป็นกระดานเทรดที่ทำหลากหลาย มีเชนของตัวเองสองเชน มีการสร้างเหรียญของเชนขึ้นมา มีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ของตัวเองแบบ Decentralize ที่เป็น Centralize ฟังดูแล้วประหลาดมาก

คือเขาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน 21 โหนด ซึ่งเทคโนโลยี Decentralize แต่เขาเป็นเจ้าของคนเดียว นั่นก็คือรวบอำนาจแบบ Centralize สั่งซ้ายหันขวาหันได้ตามใจชอบ

ค่าใช้จ่ายเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้ แทนที่จะดูดซับเอง แต่ใช้กลไก Proof of Stake มาเก็บเงินคนที่ทำธุรกรรมบนเชน และเปิดโอกาสให้ผู้ใช้มาวางเงิน (Stake) เพื่อกินค่าฟีได้อีกด้วย เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นหนังจีนกำลังภายใน ก็จะเรียกว่า “ลมปราณภูติอุดร” คือยืมพลังคนอื่นมาเป็นพลังของตัวเอง แถมเหรียญที่เสกขึ้นมาจากอากาศนับร้อยล้านเหรียญ ก็มีมูลค่าอีกด้วย เด็ดกว่านี้มีอีกไหม นี่แหละ “จักรวาลคริปโต”

สรุป
กลไกป้องกันการโกงแบบ Proof of Stake ยังมีเส้นทางอนาคตที่สดใส และเชนต่างๆก็จ้องตาเป็นมัน ไม่ใช่เพราะมันมีความแข็งแกร่งเหนือ Proof of Work ของบิตคอยน์ แต่มันมีระบบที่เอื้อในการทำมาหากินของทุกฝ่าย จนสื่อต้องเอ่ยว่ามันจะกลายเป็น Staking Economy ทำให้การลงทุนเหรียญคริปโตนั้น นอกจากจะได้กำไรจาก Capital Gain แล้วมันยังมี “เงินปันผล” ในรูปแบบการวางเดิมพันเหรียญอีกด้วย

บิ๊ก พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์
อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร PC World / Compter Review / Business.com
Twitter: @pongrapee
Email: pongrapee@gmail.com