ยุคตื่นรู้ทางปัญญา (Age of Enlightenment)

พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์

ยุคตื่นรู้ทางปัญญา (Age of Enlightenment)

ผมบังเอิญไปคอมเมนท์เพื่อนในประเด็นการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย เพื่อนบอกว่าให้เข้าสู่เรเนซองส์ เราบอกให้ต่อไปอีกนิดเข้าสู่ยุคตื่นรู้ทางปัญญาไปเลย เพื่อนรุ่นพี่อีกคนรบเร้าให้ช่วยเล่าเรื่องยุคนี้ให้ละเอียดหน่อย ไหนๆจะเมนท์เล่าแล้ว ผมเลยคิดว่าเอามาเขียนเป็นบทความสั้นๆน่าจะดีกว่า เผื่อคนอื่นอยากจะอ่านด้วย

พูดถึงยุคสมัยในประวัตศาสตร์แล้ว หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า คนในยุคนั้นๆพวกเขาไม่รู้หรอกว่าเรียกว่ายุคอะไร เพราะไม่มีใครเรียกกัน การเรียกขานนั้นเกิดจากนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังตั้งชื่อขึ้นมากันเอง เพื่อสื่อถึงช่วงเวลา แทนที่จะมานั่งจำตัวเลขปีเพียงอย่างเดียว โดยเลือกลักษณะที่เด่นที่สุดของช่วงเวลานั้นๆ

อย่างเช่น “ยุคมืด” ของยุโรป ที่กินเวลานับพันปี ที่เรียกกันเช่นนั้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนในสังคมไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมาใหม่เลย ด้วยเหตุผลที่สังคมโดนครอบงำด้วย “อำนาจใหม่” ที่เรียกว่า “ศาสนจักร” ที่จับมือกับอำนาจเก่าที่ชื่อว่า “รัฐ”

ใครที่สงสัย ตั้งคำถาม หรือคิดต่างจากสองอำนาจที่กล่าวมา จะสุ่มเสี่ยงต่อการยัดข้อหาทั้งเป็นคนนอกรีต แม่มด ไม่โดนจับไปขัง ก็เอาไปเผา ต่อให้ข้อสงสัยคำอธิบายนั้นจะหมดจดแจ่มแจ้ง ประจักษ์ต่อลูกตาแค่ไหน พวกนั้นก็ไม่ฟัง ตัวอย่างที่เราได้ยินมามากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องของกาลิเลโอที่บอกว่าโลกกลม พูดปุ๊ปความซวยก็เดินทางมาถึงทันที พูดความจริงก็ติดคุกได้ เพราะสังคมยุคนั้น “คลั่งความลวง” “คลั่งอำนาจ”

การสิ้นสุดของยุคมืด นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะนับช่วงเวลาที่กรุงสแตนติโนเปิลโดนตีแตก พ่ายแพ้ต่อจักรวรรดิออตโตมาน ที่เมเหมดที่สองนำทัพไปเอง (ใครสนใจช่วงเวลานี้แนะนำให้ไปดูซีรีย์ Ottoman ใน netflix นะ ทำได้ดีเชียว มีสองซีซันล่ะ และในช่วงเวลานั้นมีนวัตกรรมอาวุธสงครามเกิดขึ้นสองอย่าง นั่นก็คือ ปืนใหญ่ขนาดยักษ์ และการขนเรือขึ้นบก)

การสิ้นสุดของกรุงสแตนติโนเปิล ถือว่าเป็นการปิดฉากของจักรวรรดิโรมันตะวันออก ที่หลายคนเรียกว่าไบแซนไทน์ และเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเรเนซองส์ เพราะว่าชาวโรมันที่แตกพ่ายนั้น ส่วนหนึ่งมีการขนเอาหนังสือจากห้องสมุดอเล็กซานเดรียที่มีหนังสือบันทึกความรู้นับพันปีของกรีกกลับไปฟื้นฟู นั่งอ่าน นั่งทำความเข้าใจ ทบทวนตัวเองใหม่

ประจวบเหมาะกับกูเต็นเบิร์กสามารถประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นมาได้ในช่วงเวลานั้นพอดี หลังจากนั้นไม่ถึงห้าสิบปี มีหนังสือที่บันทึกเรื่องราว ความรู้ต่างๆที่ผลิตจากแท่นพิมพ์ กระจายไปทั่ว เพียงแต่ว่าจักรวรรดิออตโตมานที่ยิ่งใหญ่นั้น กลับกลัวเทคโนโลยีที่เรียกว่า “หนังสือ” กลัวควบคุมความคิดของมวลชนคนรากหญ้าไม่ได้ กลัวโน่นนี่นั่น ก็เลยจัดสิ่งนี้อยู่ในหมวดความมั่นคง สั่งห้าม แต่ในยุโรปไม่ได้ห้าม ความเจริญของสองจักรวรรดิก็เริ่มแยกแตกต่างกันเรื่อยๆ จนท้ายสุดจักรวรรดิออตโตมันก็ล่มสลายไป

ช่วงเวลาของยุคเรเนซองส์นั้นยาวนานสามสี่ร้อยปี ความหมายตรงตัวของคำนี้ก็คือ “การเกิดใหม่” เกิดใหม่จากความขมขื่นจากยุคมืด ที่คนส่วนน้อยที่มีอำนาจนั้นใช้หลักกูในการตัดสินทุกอย่าง อ้างอำนาจที่มองไม่เห็นอย่างพระเจ้าจัดการ และพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สามารถติดต่อรับสารจากพระเจ้าเป็นกลุ่มเดียว ผูกขาดความจริงที่เขามโนขึ้นมา


และยุคที่ต่อจากยุคนี้ และนำพาชาวตะวันตกพุ่งดิ่งขึ้นเป็นผู้นำของโลก ก็คือ “ยุคตื่นรู้ทางปัญญา” ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Enlightenment” คีย์หลักก็คือเป็นยุคที่ใช้เหตุผลมากขึ้นมาก ให้เครดิตกับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ การสงสัยใคร่รู้ การตอบคำถามทุกแง่มุม เป็นสิ่งที่คนในสังคมพึงกระทำได้ และรวมถึงการศึกษาที่กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่ ไปสู่รากหญ้า ตรงนี้ส่วนหนึ่งก็ต้องขอบคุณกูเต็นเบิร์กด้วย

การนับช่วงเวลาของยุคตื่นรู้ทางปัญญา นักประวัติศาสตร์หลายคนอาจจะนับแตกต่างกันไป แต่จุดที่ผมชอบเป็นพิเศษคือการนับตั้งแต่หนังสือ Principia Mathematica ของนิวตันได้ตีพิมพ์ ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นหมุดหมายที่สำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ในยุคนี้

นี่คือเรื่องราวย่อๆของสองสามยุคสำคัญในประวัติศาสตร์โลก และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่า ถึงแม้ยุคมืดจะจบลงไปนานแล้วในยุโรป แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งยังครอบความคิดบล็อกสมองตัวเองดั่งอยู่ในยุคมืดนี้อยู่ คนข้างนอกก็ได้แต่เชียร์ให้แสงสว่างได้สาดส่องไปถึงบ้าง เผื่อจะได้สัมผัสการตื่นรู้ทางปัญญา และจะได้เห็นทางออกที่ควรจะเป็น สาธุ..