อิสระภาพทางการเงินเป็นภาพลวงตา | Oneman EP.3

“ต้นเรื่อง” มาจากโพสต์ของโค้ชหนุ่ม ตามข้อมูลถัดไปครับ เราหยิบเอามาพูดคุยกันต่อ พร้อมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมนะครับ


https://www.facebook.com/TheMoneyCoachTH/posts/5113603255346440

อิสรภาพการเงิน “ลวงตา”
ราวปี 2551 ผมมีอิสรภาพการเงินจากรายได้ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินปันผลจากบริษัทที่ปรึกษาโรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทฝึกอบรม ที่ผมก่อตั้งขึ้นในช่วงเวลานั้น
ทุกอย่างเป็นไปตามตำรา “พ่อรวยสอนลูก” ของโรเบิร์ต คิโยซากิ ที่ว่า “ถ้าเรามีรายได้จากทรัพย์สิน หรือ Passive Income มากกว่ารายจ่ายรวมต่อเดือน เราก็จะมีอิสรภาพทางการเงิน หรือ Financial Freedom”
เอาเขาจริงการมีอิสรภาพการเงิน ผลลัพธ์สุดท้ายของมัน ก็คือ การมีอิสระทาง “เวลา”​ นั่นแหละ เราสามารถจัดสรรเวลาของเราได้มากขึ้น โดยมีทรัพย์สินเป็นเครื่องทุ่นแรงในการหาเงิน ไม่ต้องทำงานทุกวัน (แต่ไม่ทำงานเลยไม่มีจริงหรอกนะครับ) ก็มีเงินใช้จ่ายเพียงพอในแต่ละเดือน
ในช่วงเวลานั้นชีวิตผมมีใช้จ่ายไม่มากครับ แค่เดือนละ 30,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้น การมีรายได้จากทรัพย์สินร่วมๆ 50,000 บาทต่อเดือนในช่วงเวลานั้น จึงทำให้มีอิสระได้ตามที่ตำราว่าไว้ได้ไม่ยาก
คิดว่าพอมี Passive Income แล้ว จะประสบความสำเร็จในชีวิต พอมีเข้าจริงแล้ว ไม่ใช่อย่างที่คิดเลยครับ …
หลังเริ่มมีรายได้พอเลี้ยงตัว แบบพอที่จะพักจากทำงานได้บ้าง ผมเริ่มมีชีวิตที่ไร้สาระมากขึ้น เพราะคิดเอาเองว่า คนมีอิสระทางเวลา ก็ควรใช้มันให้เต็มที่
ผมเริ่มตื่นสาย ตื่นขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ก็ไปยืนรอห้างสรรพสินค้าเปิด ในอดีตเคยนึกสงสัยว่า คนเขาทำไมต้องไปรอห้างเปิดด้วยว่ะ ไม่มีอะไรทำกันเหรอ สุดท้ายผมได้ไปยืนรอกับเขาเหมือนกัน
พอห้างเปิดก็เดินเข้าไปซื้อของ เหมือนต้องการชดเชยส่วนที่ขาด ประมาณว่าแต่ก่อนไม่ค่อยมี เมื่อพอมีเงินก็ซื้อ ทั้งๆ ที่ชีวิตก็ไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้มากขนาดนั้น
โทรหาเพื่อนๆ เขาก็ทำงานกันหมด แรกๆ คิดว่าเท่ห์ดี เพราะในขณะที่คนอื่นกำลังทำงาน เรากลับชิลๆ เดินเข้าร้านหนังสือ จิบกาแฟอะไรไปเรื่อยๆ
พอมีอิสรภาพแล้วเสาร์อาทิตย์ไม่เที่ยวนะครับ ไปเที่ยววันธรรมดา เพราะมันแสดงถึงอิสรภาพได้ดีกว่า สุดท้ายพบความจริงว่า เที่ยววันธรรมดามีข้อเสียที่หลายร้านค้าไม่ค่อยเปิด เพราะเขาเปิดแล้วไม่คุ้ม ไม่เหมือนวันเสาร์อาทิตย์ กลายเป็นร้านอร่อยร้านดัง ไม่ค่อยได้กินไปซะอย่างนั้น
นอกจากนี้ยังมีการพยายามใช้ชีวิตให้คนอื่นอิจฉา ด้วยการหยิบคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค ไปนั่งทำงานริมชายหาด ตามแบบที่โฆษณาคนมีอิสรภาพเขาทำกัน
ปรากฎว่า “แสบตาฉิบหาย” เอาจริงๆ ทำไม่ได้นะครับ มึงทำคอมอยู่บ้านดีกว่า เป็นเรื่องตอแหลครับ ทำไม่ได้จริง (555)
ใช้ชีวิตแบบนี้อยู่เกือบครึ่งปี รู้สึกชีวิตไร้แก่นสารมาก เลยเริ่มกลับมาคิดหยิบจับทำอะไรกับเขาบ้าง
ในปีนั้นผมเริ่มทำงานอาสาสมัคร ทำงานการกุศลมากขึ้น รวมถึงกลับมาบริหารธุรกิจของตัวเองอย่างจริงจังอีกครั้ง แล้วก็กลับมาเริ่มรู้สึกดีกับตัวเองอีกครั้ง จนได้เข้าใจ่า แก่นชีวิตของคนเรา ไม่ใช่แค่เรื่องการมีเงินให้มากพอใช้จ่ายในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ ความรู้สึก “มีคุณค่า” หรือการได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นด้วย
ปี 2551 เลยเป็นปีแต่แห่งการฉีกตำราการเงินที่ยึดถือปฏิบัติมาตลอดหลายปี ที่แต่ก่อนเคยหายใจเข้าออกเป็น Passive Income เริ่มกลับมามองคนทำงานประจำ คนทำงานฟรีแลนซ์ หรือกลุ่มคนที่สร้างรายได้แบบ Active Income เสียใหม่
ว่าการที่คนเราทำงานเพื่อเงินนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายสักหน่อย ตรงกันข้ามเขาก็มี “คุณค่า” หรือทำประโยชน์ต่อผู้อื่นในแบบของเขา ถ้ารายได้ที่เขาหาได้เพียงพอดูแลตัวเอง ที่เหลือมันก็คือ การบริหารจัดการเงินให้เข้าที่เข้าทางเท่านั้นเอง
ในเรื่องของอิสระทางเวลา บางทีหลายคนอาจไปตีกรอบเองว่า เวลา 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น คือ การถูกกักขัง กักขังหรือเปล่า ผมว่ามันอยู่ที่การใช้เวลา 9 to 5 ของเราเองนั่นแหละครับ
เพราะเอาจริงๆ ถ้าคนทำงานประจำ หรือทำงานฟรีแลนซ์ อยากมีเวลาในชีวิต ก็ใช่ว่าจะจัดสรรเวลาไม่ได้ เพียงแต่ส่วนใหญ่ชอบทำตัวให้ยุ่งเอง จนจัดสรรเวลาอะไรไม่ได้มากกว่า
หลังจากเข้าใจชีวิตมากขึ้น ชีวิตผมเหมือนเข้าสู่ Matrix ใหม่ (เด็กรุ่นใหม่เคยดูกันมั้ย 555)
มอง Active Income หรือ รายได้จากการทำงาน เป็นการสร้าง “คุณค่า” ให้ตัวเอง แม้จะต้องทำงานแลก แต่ก็รู้สึกดีกับตัวเอง ที่ได้ลงมือทำงาน ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนที่ทำงานด้วย และร่วมสร้างความสำเร็จและความภูมิใจไปด้วยกัน
ส่วน Passive Income หรือ รายได้จากทรัพย์สิน ก็เป็น “เครื่องทุ่นแรง”​ ทำให้เราได้พัก ได้หยุดได้บ้าง ในเวลาที่ต้องการ และจะว่าไป รายได้จากทรัพย์สินบางช่องทาง ก็สร้าง “คุณค่า” ให้กับเราได้เหมือนกัน อย่างเช่น บริษัทที่ปรึกษาของผม ไม่ได้แค่สร้างรายได้จากการทำงานของลูกน้องผมเท่านั้น แต่ในภาพรวมมันสร้างประโยชน์และพัฒนาวงการอุตสาหกรรมของไทยไปได้ด้วยเหมือนกัน
ที่ดีแล้วชีวิตเราควรมีทั้งสองอย่าง คือ ทั้ง Active และ Passive Income มีผสมผสานกันไว้เป็นเรื่องที่ดี รวมกันเรียกว่าเป็น “Multi-Income Stream” หรือการมีรายได้จากหลากหลายช่องทาง
วันที่ยังมีแรงมีกำลัง ก็สนุกกับ Active Income สร้างรายได้ ไปพร้อมกันกับการสร้างคุณค่า (แล้วทยอยสร้าง Passive Income ไประหว่างทาง)
วันไหนอ่อนแรง อยากพัก ก็มีเครื่องทุ่นแรง อย่าง Passive Income สร้างรายได้เลี้ยงชีวิตในวันที่เราพักจากการทำงานได้
สุดท้ายมันเหมือนกับเมื่อได้ผ่านทุกอย่างจึงเข้าใจ … อิสรภาพทางการเงินที่หลายคนตามหา อาจไม่ได้วัดกันที่ “ตัวเงิน” แต่วัดกันที่ “ความคิด”
ความคิดที่อิสระจากเงิน …
แน่นอนว่ายังไงชีวิตคนเราก็จำเป็นที่จะต้องมีเงินเพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่าย แต่เมื่อรายได้เพียงพอกับการใช้จ่าย (ไม่ว่าจะเป็น Active หรือ Passive) หลังจากนั้นมันอยู่ที่แต่ละคนจะจัด “สมดุลชีวิต”​ จาก “เวลา”​ ของแต่ละคนอย่างไร
ขอให้ทุกคนเริ่มต้นมองเห็นอิสรภาพทางการเงินในแบบของตัวเองครับ
โค้ชหนุ่ม