AI Coffee Talk| Generative Art

วันที่ 30 เมษายน 2566 กิจกรรม AI Coffee Talk
Generative Art โดย AI Thailand Journal

AI Coffee Talk| Generative Art

โต๊ะกาแฟวันนี้ ประกอบด้วยผู้สนใจใน Generative Art ตัวแทนสายวาด ครีเอทีฟ โปรดักชั่น ฯลฯ บางท่านยังไม่ได้ใช้ AI บางท่านได้ศึกษาและใช้งานเครื่องมืออย่าง Stable Diffusion และ Midjourney มาสนทนาแลกเปลี่ยนกันในบรรยากาศสบายๆ โดยขอสรุปบทสนทนามาแบ่งปันกันคร่าวๆ ดังนี้

Generative Art กำลังนำพวกเราไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ เหมือนยุคที่สเปรดชีตได้นำพวกเราไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ด้านตัวเลข โดยมีมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบ ตรวจสอบและยืนยันผลลัพธ์ ซึ่งในปัจจุบัน มีทั้งฝ่ายเห็นประโยชน์ และฝ่ายที่ยังมีคำถาม เล็งเห็นปัญหาต่างๆ เช่น การเข้ามาแย่งงาน ปัญหาละเมิดผลงานอันมีลิขสิทธิ์ ผลลัพธ์จาก AI เป็นงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ไหม และลิขสิทธิ์เป็นของใคร

อย่างไรก็ตาม ได้เห็นพ้องกันว่า AI Generative Art เป็นความก้าวหน้า ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาจจะเข้ามาแย่งงานประเภทวาดภาพปก วาดภาพประกอบ วาด Portrait และมีคำถามว่า ละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งานไหม

หนึ่งในผู้ร่วมจิบกาแฟ ผู้มีประสบการณ์ทำงานวาดภาพที่ประเทศสิงคโปร์ และ ได้รับรางวัล Astrograph Awards เป็นศิลปินที่ได้เห็นประโยชน์ และสนใจศักยภาพของ Generative Art ในด้านบวก เพิ่งขายผลงานที่ใช้ Generative Art ช่วยได้ในราคา 8,000 บาท โดยผู้ซื้อไม่ได้สอบถามวิธีการสร้างผลงานแต่อย่างใด ตอนนี้ เหมือนว่าผลงานที่สร้างโดย AI จะนับว่าไม่มีลิขสิทธิ์ แต่ลูกค้าสนใจที่ตัวผลงานเอง หากตอบโจทย์ให้ลูกค้า ก็ไม่ได้มีประเด็นปัญหาใด มีผู้กำกับเพิ่งซื้องาน Story board 20 ช่อง ในมูลค่า 20,000 บาท และสามารถขายกระเป๋าผ้าที่ออกแบบลายด้วย AI บนแพลตฟอร์มงานแฮนด์เมดชื่อดัง Etsy ใบละ 1,700 บาท อย่างไรก็ตาม มีกระแสในด้านลบ ของผู้ที่มีอาชีพด้านสร้างงานศิลปะ อยู่ไม่น้อย

ยกตัวอย่าง ในอดีตที่เทคโนโลยีการถ่ายภาพเพิ่งเริ่มเกิดขึ้น ก็มีข้อถกเถียงเช่นกันว่า ภาพวาด เป็นงานศิลปะ ในขณะที่การถ่ายภาพ ไม่ใช่งานศิลปะ และผู้สร้างสรรค์ภาพถ่าย ช่างภาพนับเป็นเจ้าของผลงานเช่นเดียวกับศิลปินผู้วาดภาพหรือไม่ ดังนั้น ผลงานศิลปะที่เกิดจากการใช้งาน AI คงมีข้อถกเถียงไปอีกสัก 4-5 ปี

มีผู้ให้ความเห็นว่า ความแตกต่างของผลงานจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ และ AI Generative Art เกิดจากการตีค่าความพยายาม มองว่า การใช้ AI สร้างผลงาน ไม่ต้องใช้ความพยายาม

มุมมองจากอาจารย์ศิลปะในมหาวิทยาลัย ในความเห็นส่วนตัวไม่ได้กลัว AI Generative Art มาแย่งงาน เพียงสงสัยว่า AI จะทำอะไรได้บ้าง ในขอบเขตของงานศิลปะ นอกจากงานสร้างภาพกราฟิก ภาพเหมือนต่างๆ แล้ว สนในงานแอนิเมชั่นว่า AI Generative Art สามารถสร้างงานได้ดีเพียงใด

ขณะที่ ฝ่ายครีเอทีฟและโปรดักชั่น เห็นการใช้งาน Generative Art ที่กระทบปัญหาลิขสิทธิ์น้อย แต่ได้ประโยชน์มาก ได้แก่การใช้สร้าง Visualize หรือ Pre-production เสนองานให้แก่ลูกค้า ลดภาระ ค่าใช้จ่าย ควบคุมเวลา และช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ตรงใจขึ้น

แอดมินเพจ Stable Diffusion Thailand แบ่งปันประสบการณ์ว่า คนจำนวนมาก มองว่า AI Generative Art เข้ามาแย่งงาน และละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์งาน สหรัฐอเมริการก็ตื่นตัวเรื่องปัญหาลิขสิทธิ์ มีแนวคิด จะนำเอาดาต้าเซ็ตที่มีผลงานอันมีลิขสิทธิ์ออกไปจากเทรนนิ่งดาต้าเซ็ตของ AI Generative Art และด้วยความสามารถในการเทรนนิ่งโมเดลตัวเอง Stable Diffusion จะสร้างผลงานใหม่ๆ ขึ้นเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับผลงานอันมีลิขสิทธิ์ใด คาดว่าภายใน ไม่เกิน3 ปี AI Generative Art จะพัฒนา เทรนนิ่งโมเดลตัวเอง จนไม่พึ่งพาดาต้าเซ็ตที่เกี่ยวข้องกับงานที่มีลิขสิทธิ์ได้

ในความเห็น ศิลปินมืออาชีพ ที่สนับสนุน Generative Art มีความสนใจจะปล่อยผลงานเป็น Public Domain นำไปใช้เป็นดาต้าเซ็ตเพื่อเทรนนิ่งโมเดล ซึ่งจะทำให้ Identity ของตนเอง จะได้แพร่หลายออกไป ผลกระทบที่คาดไว้ ความต้องการจ้างทำงาน อย่าง งานวาดปก อาจจะน้อยลง ในทางกลับกัน ลายเส้นของศิลปิน สไตล์ผลงานของเราจะ Mass ศิลปินมีชื่อเสียงมากขึ้น ได้เครดิตที่ได้จากผลงานสร้างสรรค์ใหม่ๆ สามารถต่อยอด ที่มีมูลค่ามากกว่า ค่าจ้างแบบเดิม

ท้ายที่สุด AI Generative Art จะทำให้ความห่างระหว่างคนทั่วไป และ Expert ลดลง ช่วยลดภาระงานของศิลปิน ใช้เวลาสร้างสรรค์ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องให้ความสนใจเรื่องกฎหมาย กติกายังตามการพัฒนา AI ไม่ทัน ศิลปินมืออาชีพก็หันไปเรียนนิติศาสตร์เพิ่มเติม แอดมินเพจก็กำลังศึกษา และช่วยผลักดันข้อกฎหมายที่จะรองรับการพัฒนา Generative Art ให้ได้ทันเวลาและเหมาะสม สุดท้าย ไม่ว่า AI Generative Art จะสามารถพัฒนาตัวเองไปได้เพียงใด เราต้องพร้อมที่จะใช้ประโยชน์ อย่างระมัดระวัง AI Thailand Journal จะติดตามอัพเดตให้อย่างใกล้ชิด