“แคลคูลัส” หนึ่งในเสาหลักของวงการคณิตศาสตร์ ที่นักเรียนสายวิทย์จะต้องคุ้นเคย ถึงแม้ว่าจะลืมไปเกือบหมดแล้วก็ตาม ว่าไปแล้วแคลคูลัสเกิดขึ้นมาด้วยเหตุบังเอิญ และแรงขับของเซเลปนามว่า “ไอแซค นิวตัน” ที่กำลังสร้างทฤษฏีกฎแรงโน้มถ่วงและการเคลื่อนที่ แต่คณิตศาสตร์ยุคนั้นไม่สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปรต่างๆตามทฤษฏีของนิวตันได้ เช่นการเปลี่ยนของความเร็วเป็นความเร่ง
ด้วยเหตุนี้นิวตันจึงได้พยายามพัฒนาหลักการคณิตศาสตร์ขึ้นมาใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อมาตามติด “การเปลี่ยนแปลง” โดยเฉพาะ จนท้ายสุดก็สร้างออกมาสำเร็จในชื่อที่เรียกว่า “แคลคูลัส”
ดังนั้นถ้าจะพูดให้สั้นที่สุดว่าแคลคูลัสคืออะไร ก็คงต้องตอบว่าเป็น “คณิตศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง” เพื่อติดตามหาค่าจากจุดเริ่มต้น จุดกลาง ไปจนถึงการทำนายจุดข้างหน้าที่อาจจะยังไม่เกิด และนี่คือหนึ่งในสาขาคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากในหลากหลายวงการ
ทีนี้ย้อนมาดูเรื่อง “ประวัติศาสตร์” บ้าง
ประวัติศาสตร์คืออะไร?
หลายคนอาจจะตอบว่า “ประวัติศาสตร์ก็คือเรื่องในอดีต” คำตอบนี้ถ้าบอกว่าผิดก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่าถูกมันก็คงจะ “แคบเกินไปที่จะสรุปแบบนั้น” เพราะหัวใจมันไม่ใช่เรื่องนี้
ประวัติศาสตร์ คือ “จุดเริ่มต้นในอดีตที่สนใจและการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้น” แล้วทำไมถึงเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร ใครคือตัวละครที่เกี่ยวข้องในเส้นเรื่องและคำถามอีกมากมายที่ชวนให้คิด ชวนให้ค้นหาคำตอบ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันเป็นอย่างนั้น?
ก็มาจากหลักฐาน พยาน คำบอกเล่า ข้อเขียน ฯลฯ แล้วเอามาตีความด้วยมุมมอง ความเชื่อ ความรู้ ผลประโยชน์ และอำนาจ จากนั้นก็ออกมาเป็น “ชุดความเชื่อหนึ่ง” ที่บางคนเรียกว่า “ความจริง” บ้างก็เรียกว่า “คำลวง” อีกส่วนเรียกว่า “ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์” ไปจนถึงเรียกว่า “นิทาน” ก็มี
พูดให้สั้นๆในเรื่องนี้ “ประวัติศาสตร์ก็คือศาสตร์ที่สนใจการเปลี่ยนแปลงจากจุดในอดีตนั่นเอง”
ดังนั้นโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ ประวัติศาสตร์และแคลคูลัสเหมือนกันอย่างไร? ก็ต้องตอบว่า ทั้งคู่เป็น “ศาสตร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง”
แคลคูลัสพยายามจับแพทเทิร์นของการเปลี่ยนแปลง เพื่อมาสร้างสมการ แล้วเอาไปทำนายค่าในจุดต่างๆ รวมถึงอนาคต เช่นเดียวกับ “วิชาประวัติศาสตร์แท้ๆ” ที่พยายามศึกษาการเปลี่ยนแปลง ทำความเข้าใจการ “ตีความ” จากหลายมุมมอง ค้นหาหลักฐาน ตั้งสมมติฐาน สงสัยและตั้งคำถาม แล้วท้ายที่สุดก็นำมาเป็นความรู้ในการทำความเข้าใจเรื่องราว ที่ไปที่มา เพื่อให้มีความกว้างในวิเคราะห์ มีความลึกในข้อมูล และสามารถมองต่อไปในอนาคตได้
เรื่องหลายเรื่องเมื่อมอง “เฉพาะจุด” ความเข้าใจอาจจะ “แคบเกินไป” และบ่อยครั้งนำพาไปสู่การเข้าใจและตัดสินใจที่ผิดพลาด แต่ถ้าเราสามารถ “มองจุดนั้นเป็นเส้นเรื่อง” รู้ที่ไปที่มาว่าก่อนจะมาถึงจุดนี้ ว่ามันมีเรื่องราวอะไร แรงจูงใจแบบไหน ลอจิกสมเหตุสมผลหรือเปล่า ตัวละครใดบ้าง ก็จะทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นและถูกต้องมากขึ้นเช่นกัน
พูดให้กระชับ “อย่ามองประวัติศาสตร์เป็นจุด ให้มองเป็นเส้นเรื่อง และให้มองการเปลี่ยนแปลง”
ดังนั้นใครที่ศึกษาประวัติศาสตร์ แล้วเชื่อไปหมดทุกอย่างที่บันทึก อินไปหมดทุกอย่างที่เขาบอก สั่นสะท้านกับเรื่องราวพิลึกพิลั่น ก็อยากแนะนำให้ลองอ่านบทความนี้อีกครั้งนึงนะครับ
บิ๊ก พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์