แกะรอย GPT ตอน 5

พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์

แกะรอย GPT ตอน 5

สามสี่ตอนที่ผ่านมา เราเล่ากันถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างตัวอักษรของ ChatGPT ไปละ ตอนนี้เรามาเดินทางกันต่อ

ถ้าลองไปถามหลายๆคนว่า ChatGPT คืออะไร? ผมเชื่อว่าคำตอบออกมาคงจะหลากหลาย อาจจะเริ่มตั้งแต่ มันคือเครื่องมือมหัศจรรย์ กูรูผู้รู้ทุกอย่าง เอไอที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ไปจนถึงความหมายลึกๆอย่าง Large Language Model หรือ Machine Learning

สำหรับผมแล้วเวลาเล่าเรื่องนี้ให้คนอื่นฟัง ผมมักจะหยิบยกเอานิยามที่แตกต่างกันไปไปเล่าให้เหมาะสมกับคนฟัง แต่ถ้าเขามีความสนใจและมีเวลามากหน่อย ผมจะเล่าเริ่มจากประโยคภาษาอังกฤษง่ายๆว่า

ChatGPT=predicting the probability distribution of training data

แล้วค่อยๆถอดรหัสทีละคำว่ามันหมายถึงอะไร และถ้าสีหน้าแววตาของผู้ฟังดูลุกวาว ผมก็จะค่อยๆดำดิ่งลงลึกในรายละเอียดไปจนถึงสูตร Math ที่รองรับ ว่ามันประกอบร่างและทำงานกันอย่างไร

ซึ่งตรงนี้น่าสนใจ ถ้าพื้นฐานเรา “เข้าใจได้แน่นเพียงพอ” เราจะเข้าใจศักยภาพและข้อจำกัดของมันจากประโยคเดียวที่อธิบายไป และถ้าคนฟังมีพื้น Math มาพอสมควร เขาก็สามารถต่อยอดจินตนาการออกไปได้อีก อาจจะไปจนถึงการสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆออกมาก็เป็นได้ และนี่คงเป็นสิ่งที่บิลเกตส์เห็นและได้เขียนถึงความสำคัญของ Math ถึงกับเคลมประเด็นว่าช่วย “ลดความเหลื่อมล้ำได้” ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใดก็ตาม จากบทความล่าสุด The Age of AI has begun ซึ่งพูดกันถึงขนาดนั้น

In the United States, the best opportunity for reducing inequity is to improve education, particularly making sure that students succeed at math. The evidence shows that having basic math skills sets students up for success, no matter what career they choose. But achievement in math is going down across the country, especially for Black, Latino, and low-income students. AI can help turn that trend around.

Math ที่ใช้ในการสร้าง Machine Learning นั้น อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีสี่ห้าตัว เริ่มตั้งแต่ Linear Algebra, Calculus, Prob, Stat, Graph Theory ลากไปจนถึงลูกผสมอย่าง Optimization

น้องๆที่เรียนมอปลาย แล้วรู้สึกเบื่อหน่ายที่ครูสั่งให้ทำโจทย์คูณเมตริก ไปนั่งบวกๆคูณๆ determinant แล้วเกิดคำถามขึ้นมาในใจอย่างดังว่า ทำไปเพื่อ…?! ผมอยากแนะนำให้น้องๆลองมาศึกษาเรื่อง Machine Learning ดู ก็จะรู้คำตอบเองว่า ทำไปทำไม

ร่วมสนับสนุนบทความสั้นๆรวมเกร็ดสาระเอไอแบบนี้ได้ โดยการคอมเมนท์และแชร์นะครับ