ChatGPT โสเครติส คาร์ลมาร์กซ และ Critical Thinking

พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์

หลายปีที่ผ่านมามีการพูดถึงทักษะที่จำเป็นต้องการทำงานของคนรุ่นใหม่และเผลอๆไล่ไปถึงยุคเก่าเลย นั่นก็คือเรื่อง Critical Thinking เพราะคนจำนวนมากมีทักษะนี้น้อย องค์กรอย่าง World Econonic Forum เองก็หยิบเรื่องนี้มาตีฆ้องร้องป่าวอยู่หลายครั้งจนกลายเป็นประเด็นที่คนในสังคมสนใจอยู่หลายปี

ปัจจุบันมีทฤษฏีที่ว่าถึงเรื่อง Critical Thinking อยู่หลายสำนัก แต่ถ้ามองลึกๆไปจริงๆ ผมว่ารากฐานแนวคิดนั้นมาจากอดีต มาจากปราชญ์ระดับตำนาน เพียงแต่เขาไม่ได้ใช่ชื่อแบบนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคาร์ลมาร์กซ เจ้าของแนวคิด Dialectical Materialism ที่คนไทยเราเรียกว่า “ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ” ซึ่งมาร์กซเองก็เอาแนวคิดนี้มาจากอาจารย์แกเองนามว่า “เฮเกล” เจ้าของทฤษฏี Hegelian Dialectic อันโด่งดัง แต่มาร์กซถอดไส้ในออกไปครึ่งหนึ่ง เพราะคิดว่าไม่เวิร์ก

และถ้ามองเจาะลงไปที่ Dialectic ของเฮเกลที่ประกอบไปด้วย Thesis/Antithesis เพื่อให้ได้ Synthesis นั้น ดูเผินๆแล้ว ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน หรือพิสดารควรค่าแก่การเป็นทฤษฏีอะไรที่คนยกย่อง มันก็แค่การถกเถียงประเด็นต่างๆ มันเป็นสามัญสำนึกที่คนทั่วไปรับรู้และเข้าใจอยู่แล้ว แต่ถ้าใจนิ่งๆและพินิจพิเคราะห์ก็จะเห็นว่า ในยุคที่อำนาจรัฐเต็มมือ การที่มีประเด็นอะไรสักอย่าง แล้วส่งเสริมให้คนเอาประเด็นเหล่านั้นมาถกเถียงถามตอบ ตรวจสอบทุกแง่มุมเพื่อให้สิ่งที่ดีกว่านั้น เป็นเรื่องที่ล่อแหลมและท้าทายเป็นอย่างมาก ยิ่งหยิบเอามาเป็นแนวคิดทฤษฏีอะไรที่ส่งเสริมให้คนในสังคมเรียนรู้อีกด้วยนั่นไม่ต้องพูดถึง

ผมเชื่อว่า Dialectic ของเฮลเกลและมาร์กซนั้นมันเป็นชุดความคิดเดียวกัน และพูดถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ทีเดียว เพราะย้อนหลังไปไกลๆกว่าพันปี รากของแนวคิดชุดนี้มันมาจากปราชญ์ยุคกรีกที่เรารู้จักกันในชื่อ “โสเครติส” ผู้ที่ซึ่งค้นหาความจริงแท้จากการตะลุยถามยิ่งกว่าเจ้าหนูจำไม

ถามยิ่งกว่าเจ้าหนูจำไม
10
การถามสไตล์โสเครติสนั้น เป็นการตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัย ถามเพื่อตรวจสอบ ถามเพื่อค้นหาเหตุผลความเชื่อมโยง และที่สำคัญคือการรู้จักฟังคู่สนทนาอย่างตั้งใจก่อนที่จะตั้งคำถามอันแหลมคม และเมื่อถามจนสิ้นสงสัยแล้ว สิ่งที่ได้คือเนื้อแท้ของประเด็นนั้นเท่าที่จะเป็นได้ แต่ว่าไปแล้วกว่าจะไปถึงจุดนั้นคู่สนทนาอาจจะกระอักเลือดก่อน เพราะจนมุมต่อคำถาม

สิ่งที่โสเครติสทำนั้น กลายเป็นวิธีการที่เรียกว่า “Socratic Method” และคนรุ่นหลังก็นับให้เป็นหนึ่งในวิธีการเรียนรู้ที่น่าสนใจ สามารถดำดิ่งไปค้นหาคำตอบ เปิดความเข้าใจแบบเจาะลึก ซึ่งอาจจะตรงกันข้ามกับวิธีการเรียนแบบคนฟังนั่งรอป้อนเหมือนลูกนก คนสอนใส่แต่เนื้อหาเพียงฝ่ายเดียว

พูดถึงบุคคลในตำนานมาหลายคน หลายคนอาจจะสงสัยแล้วหัวเรื่องมันเกี่ยวอะไรกับ ChatGPT ผมจะบอกว่ายุคของ Personalized Learning อย่างแท้จริงมันมาถึงแล้ว เด็กรุ่นใหม่ควรจะมีทักษะเรื่องนี้ให้มาก และหนึ่งในวิธีการทำความเข้าใจเนื้อหาก็คือสลับถามตอบเจาะลึกประเด็นไปเรื่อยๆจนกว่าจะเข้าใจ และคิดเชื่อมโยงได้

แล้วใครล่ะที่จะมาทำหน้าที่แบบนี้ให้กับเด็กทุกคน มันก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก ChatGPT นั่นเอง!

UNESCO องค์กรชั้นนำด้านการศึกษา ถึงกับใส่คำว่า Socratic Opponent ลงไปในคู่มือแนะนำการใช้ ChatGPT เลยทีเดียว เพื่อแนะนำให้ทุกคนที่ใช้ ลองให้ ChatGPT เป็นคู่สนทนาทั้งอยู่ฝ่ายถามก็ได้ ฝ่ายตอบก็ดี ท้ายสุดแล้วเมื่อทำไปเรื่อยๆ มันคือการสร้างทักษะของผู้เรียนที่เรียกว่า Critical Thinking นั่นเอง

และนี่คือเรื่องราวของ ChatGPT โสเครติส คาร์ลมาร์กซ และ Critical Thinking ที่เกี่ยวข้องกัน