The Future of Jobs

พงษ์ระพี เตชพาหพงษ์

วันนี้มีโอกาสไปนั่งฟังบรรยายของคุณนิรันดร์ Ava พูดถึง Generative AI เกี่ยวกับการลงทุน และมีโอกาสได้พูดคุยหน่อยนึง เนื่องจากคุณนิรันดร์มีพื้นฐานมาจากเป็นคนสายเศรษฐศาสตร์ ก็เลยอดไม่ได้ที่จะเล่าภาพกว้างในมุมแมคโครให้ฟัง โดยเริ่มจากคำว่า “The future of Jobs”

คุณนิรันดร์ได้เล่า การเข้ามาของ AI ที่จะมาทดแทนแรงงานทั้งในปัจจุบันและทวีจำนวนตัวเลขในอนาคตโดยหยิบยกงานวิจัยของ World Economics Forum ซึ่งว่าไปแล้ว ไม่ว่าสำนักไหน ก็จะมองแนวโน้มในทำนองนี้ทั้งนั้น เสียงก็เลยเป็นเอกฉันท์

อาชีพที่น่าเป็นห่วงมากคือ อาชีพที่เป็น “รูทีน” ทั้งหลาย ว่าไปแล้วอย่าว่าแต่ AI เลย คอมพิวเตอร์และโปรแกรมสารพัดมันก็เข้ามาเบียดบังงานประเภทนี้อยู่แล้วนานหลายสิบปี เพียงแต่ต่อจากนี้มันจะ “ชัด” ขึ้นเรื่อยๆ

สิ่งที่คุณนิรันดร์ ยกมาตัวหนึ่งน่าสนใจคือ เราจะคิดว่า AI มันจะมาแทนงานของกลุ่ม Blue Collar ซึ่งถ้าเป็นภาพประกอบคลาสสิค แรงงานกลุ่มนี้ก็จะอยู่ฐานล่างสุด แต่ในความจริงการแทนมันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น แกก็ยกตัวอย่างของโรงงานเทสล่าที่อีลอนมัสก์คลั่งไคล้การทำ automation คือ การเอาหุ่นยนต์มาใช้ให้ได้มากที่สุด เอาคนออกไปให้มากที่สุด

แต่ผลไม่ได้เป็นอย่างนั้นปรากฏว่า Yield การผลิตกลับต่ำและงานก็ไม่เนี้ยบ โรงงานก็เกือบเจ๊งเพราะส่งของไม่ได้ จนท้ายสุดอีลอนมัสก์ไปเอาคนงานมาช่วย และผสมผสานการทำงานคู่กัน ระหว่างแรงงานกับหุ่นยนต์+AI ผลที่ได้กลับดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อ พลิกฟื้นสถานการณ์บริษัท จนหุ้นทำ new high หลายเด้ง

ตัวอย่างนี้ยกมาอธิบายว่า แทนที่เราจะคิดว่า AI จะมาแทนกลุ่ม Blue Collar กลับกลายว่า อาจจะมาแทนกลุ่ม White Collar แทน (พวกนั่งห้องแอร์เย็นๆในออฟฟิส) และงานฝีมือของ Blue Collar ก็ยังมีที่มีทางให้อยู่ และ AI ยังสู้ไม่ได้ เพียงแต่พวกเราต้องปรับตัวใช้ AI ให้เป็นนั่นเอง นี่คือข้อสรุป

ผมเองได้ถามแกไปว่า ถ้าวันหนึ่ง GDP ของประเทศ เกิดจากหุ่นกระป๋องอะไรสักอย่างกับ AI แล้วคนส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แน่นอนคนที่กุม AI และหุ่นกระป๋อง ย่อมเป็นกลุ่มทุนใหญ่ๆ อย่างนี้มันยิ่งถ่างความเหลื่อมล้ำออกไปอีกใช่ไหม และถ้าคิดตามแนวคิดของมาร์กซ ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทุกครั้งที่มนุษย์มีความสามารถในการผลิตอย่างก้าวกระโดด สังคมจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นยุคเกษตร ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คุณนิรันดร์คิดอย่างไรกับเรื่องนี้

แกก็ตอบมาว่า ก็ต้องยอมรับว่าในช่วงต้น ความเหลื่อมล้ำย่อมมีสูงแน่ แต่ในระยะยาวมันจะค่อยๆคลายตัวไป และตัวแปรสำคัญคือ “รัฐ” ที่จะต้องมองให้ออก วางแผนให้เป็น สมองต้องทำงาน เพื่อมารองรับในส่วนนี้ ไม่ว่าจะเป็นคอนเซปต์ของ UBI หรือการเก็บภาษี AI เพื่อเอาเงินส่วนจากคนส่วนน้อย มา “เกลี่ยแฮนดิแคป” ให้กับคนส่วนใหญ่ที่ยังโดนทิ้งไว้ข้างหลัง

ในใจผมเองก็เห็นด้วยนะ เพราะว่า “รัฐที่ฉลาด” เขาคงไม่ปล่อยให้คนส่วนใหญ่อดอยากแน่ๆ เพราะถ้าปล่อยไปอย่างนั้น เมื่อถึงที่สุด คนส่วนน้อยที่เสพสุขอย่างล้นเกิน แต่คนส่วนใหญ่อดอยากเจียนตาย ไม่นาน มวลชนก็จะลุกฮือขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างที่เราเห็นในบันทึกประวัติศาสตร์ของโลก

การปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำถ่างอย่างสุดกู่นั้น มีแต่ “รัฐที่โง่” กับ “รัฐที่ลุแก่อำนาจ” เท่านั้นที่จะทำ